Home ThaiJO
ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 (2025): มกราคม-เมษายน 2568

การพัฒนาการศึกษาในยุคปัจจุบันท่ามกลางความหลากหลายของบริบททางสังคม วัฒนธรรม และภูมิศาสตร์ ล้วนส่งผลต่อแนวทางการบริหารจัดการศึกษาและการจัดการเรียนการสอนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ปลายด้ามขวานของประเทศไทย ซึ่งมีความเฉพาะตัวทั้งในด้านความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความจำเป็นในการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการศึกษา วารสารทัศนมิติทางการศึกษาปีที่ 3 ฉบับที่ 1 มีบทความวิจัย 5 บทความ ที่มุ่งสะท้อนภาพการบริหารจัดการศึกษาที่เน้นบริบทท้องถิ่นควบคู่กับการประยุกต์ใช้แนวคิดทางวิชาการอย่างเหมาะสม โดยบทความเรื่อง “การบริหารโดยใช้หลักธรรมาภิบาลของผู้บริหารสถานศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 1” และ “รูปแบบภาวะผู้นำเชิงสร้างสรรค์ตามทฤษฎีของ Jeanette Plauche Parker and Lucy Gremillion Begnaud ของผู้บริหารสถานศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต 2” ชี้ให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของผู้บริหารในการใช้หลักธรรมาภิบาลและแนวคิดภาวะผู้นำเชิงสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนองค์กรการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส และสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบสนองต่อความต้องการของชุมชน ขณะเดียวกัน บทความ “ความต้องการจำเป็นของการนิเทศภายในของผู้บริหารสถานศึกษาสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 3” และ “การบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมของผู้บริหารสถานศึกษา ระดับประถมศึกษาชายแดนไทย-มาเลเซีย จังหวัดนราธิวาส” ได้สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการนิเทศภายในและการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ชายแดน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับคุณภาพการศึกษา และส่งเสริมความเข้าใจร่วมกันระหว่างสถานศึกษาและชุมชนอย่างแท้จริง ในด้านการจัดการเรียนรู้ บทความเรื่อง “การพัฒนาชุดกิจกรรมการแก้โจทย์ปัญหาทางฟิสิกส์ เรื่อง ส่วนประกอบและอัตราเร็วของคลื่นกลตามรูปแบบของโพลยา ร่วมกับการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้สำหรับระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5” เป็นตัวอย่างที่ดีของการบูรณาการทฤษฎีการเรียนรู้ร่วมกับการออกแบบกิจกรรมที่เน้นกระบวนการคิด วิเคราะห์ และการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ในการพัฒนาทักษะผู้เรียนในยุคศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ บทความทั้ง 5 ไม่เพียงแต่เป็นผลสะท้อนของการวิจัยเชิงบริหารและการเรียนการสอนเท่านั้น หากยังเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของผู้บริหารและครูในพื้นที่ภาคใต้ ที่มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง แม้ต้องเผชิญกับข้อจำกัดและความท้าทายต่าง ๆ
ทางกองบรรณาธิการหวังว่าบทความวิจัยในฉบับนี้จะเป็นแรงบันดาลใจ และเป็นแนวทางให้กับผู้บริหาร ครู นักวิจัย และผู้ที่เกี่ยวข้องในแวดวงการศึกษาได้นำไปประยุกต์ใช้และต่อยอด เพื่อสร้างระบบการศึกษาที่เข้มแข็งและยั่งยืนในทุกบริบทของสังคมไทย โดยท่านสามารถสามารถสืบค้นและดาวน์โหลดบทความในวารสารได้ที่เว็บไซด์ https://so10.tci-thaijo.org/index.php/JPE