การศึกษาสภาพและปัญหาในการเรียนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ของนักศึกษาพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ

Main Article Content

เมธี ทะนสุข

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพและปัญหาในการเรียนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของนักศึกษาพยาบาล และ 2) เพื่อเปรียบเทียบสภาพและปัญหาในการเรียนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของนักศึกษาพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ ในระดับชั้นปีที่ 2 และ ปีที่ 3 จำนวน 122 คน ได้จากการสุ่มอย่างง่าย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามสภาพของการเรียน จำนวน 30 ข้อ และปัญหาในการเรียน จำนวน 30 ข้อ ที่มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.974 และ 0.983 ตามลำดับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบสมมุติฐานด้วยการทดสอบค่าทีแบบกลุ่มอิสระ (t-test: Independent Sample) ผลการวิจัย พบว่า 1) สภาพการเรียนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของนักศึกษาพยาบาล ในด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต พบว่า มีค่าเฉลี่ยโดยภาพรวม 3 ด้าน อยู่ในระดับสภาพปานกลาง เมื่อพิจารณาตามรายปัจจัยทั้ง 3 ด้าน ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ ด้านปัจจัยนำเข้า รองลงมาได้แก่ ด้านผลผลิต และด้านกระบวนการ 2) ปัญหาในการเรียนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของนักศึกษาพยาบาล ในด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต พบว่า มีค่าเฉลี่ยโดยภาพรวม 3 ด้าน อยู่ในระดับปัญหาปานกลาง เมื่อพิจารณาตามรายปัจจัยทั้ง 3 ด้าน ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ ด้านกระบวนการ รองลงมาได้แก่ ด้านผลผลิต และด้านปัจจัยนำเข้า 3) ผลการเปรียบเทียบสภาพการเรียนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของนักศึกษา ตามเพศ และตามระดับชั้นปี ในด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ ด้านผลผลิต และโดยรวม 3 ด้าน ไม่แตกต่างกัน และ 4) ผลการเปรียบเทียบปัญหาในการเรียนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของนักศึกษา ตามเพศด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ ด้านผลผลิต และโดยรวม 3 ด้าน มีปัญหาในการเรียนไม่แตกต่างกัน ส่วนผลการเปรียบเทียบตามระดับชั้นปี พบว่า ปัญหาในการเรียนด้านปัจจัยนำเข้า ด้านผลผลิต และโดยรวมทุกด้าน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ซึ่ง นักศึกษาชั้นปีที่ 2 มีปัญหามากกว่านักศึกษาชั้นปีที่ 3 ส่วนด้านกระบวนการ มีระดับปัญหาไม่แตกต่างกัน

Article Details

บท
บทความวิจัย
Author Biography

เมธี ทะนสุข

นักวิชาการศึกษา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ