การพัฒนาลวดลายเสื่อกกพื้นบ้านตามอัตลักษณ์เมืองชัยภูมิโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางคณิตศาสตร์

Main Article Content

สุภาพร ถีสูงเนิน

บทคัดย่อ

       งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบลวดลายเสื่อกกพื้นบ้านตามอัตลักษณ์เมืองชัยภูมิโดยใช้โปรแกรม Geometer’s Sketchpad (GSP) ประกอบด้วยการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยใช้การสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) ซึ่งกลุ่มตัวอย่างคือ ตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอเสื่อกก จำนวน 15 คน โดยมีเกณฑ์การคัดเข้า (Inclusion criteria) ประกอบด้วยเป็นบุคคลที่อาศัยในชุมชนหมู่บ้านนาสีนวล และเป็นสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอเสื่อกก และมีความสมัครใจในการร่วมโครงการ ทำการตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้าด้านข้อมูล (Data triangulation) และทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (Content Analysis) ซึ่งผู้วิจัยได้ศึกษาและสำรวจการผลิตเสื่อกกพื้นบ้านในส่วนของลวดลายจากชุมชนบ้านนาสีนวล ตำบลนาเสียว อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ จากนั้นนำมาสร้างและออกแบบลวดลายเสื่อกกโดยใช้โปรแกรมทางคณิตศาสตร์จากลวดลายที่มีอยู่เดิม ซึ่งเดิมเป็นการทอตามพื้นบ้านไม่มีลวดลายที่เด่นชัด


       ผลการวิจัย พบว่า ลวดลายของเสื่อกกพื้นบ้านตามอัตลักษณ์เมืองชัยภูมิโดยใช้โปรแกรม GSP ได้ลวดลายใหม่ทั้งสิ้น 10 ลวดลาย ได้แก่ ลายนกเป็ดน้ำ ลายดอกกระเจียว ลายกระธูป ลายขิด(ดอกเข็ม) ลายดอกบานชื่น ลายดอกราชพฤกษ์ ลายดอกลำดวน ลายตาข่ายดักฝันร้าย ลายตาไผ่ และลายบัวหลวง ซึ่งจากผลการประเมินลวดลายเสื่อกกที่ออกแบบด้วยสมการทางคณิตศาสตร์จากผู้เชี่ยวชาญ โดยด้านความสวยงาม ลายดอกกระเจียวมีความสวยงามมากที่สุด 93 คะแนน รองลงมาลายนกเป็ดน้ำ 90 คะแนน และลายกระธูป      88 คะแนน ส่วนด้านการนำไปใช้งานได้จริง โดยลายดอกกระเจียว สามารถนำไปใช้งานได้จริงมากที่สุด      95 คะแนน รองลงมาลายนกเป็ดน้ำ 90 คะแนน และลายกระธูป 70 คะแนน ซึ่งลวดลายของเสื่อกกพื้นบ้านตามอัตลักษณ์เมืองชัยภูมิทั้งหมดนั้นมีความสัมพันธ์กับฟังก์ชันและ สมการทางคณิตศาสตร์ ได้แก่ ฟังก์ชันเชิงเส้น ฟังก์ชันค่าสัมบูรณ์ ฟังก์ชันตรีโกณมิติ สมการเส้นตรง สมการวงกลม สมการพาราโบลา สมการกำลังสอง สมการกำลังสาม สมการเชิงเส้นและสมการวงกลม

Article Details

บท
บทความวิจัย
Author Biography

สุภาพร ถีสูงเนิน

คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ