การประเมินผลการดำเนินงานการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอําเภอประเด็นการดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงระยะยาว

Main Article Content

สุขสันต์ สินทา

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงประเมินผลครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลการดำเนินงานของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.)ในประเด็นการดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงระยะยาว อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม ปีงบประมาณ พ.ศ.2563 โดยใช้การประเมินความเหมาะสมของการดําเนินงาน ตามหลัก CIPP Model ได้แก่ ด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต รวมทั้งมีการประเมินระดับการพัฒนาการดำเนินงานการดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงระยะยาว ตามแนวทาง UCCARE ได้แก่ การทำงานร่วมกันเป็นทีมในระดับอำเภอ, การให้ความสำคัญแก่กลุ่มเป้าหมายและประชาชน,การมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคี, การชื่นชมและเกิดคุณค่า, การแบ่งปันทรัพยากรและการพัฒนาบุคลากร และการดูแลผู้ป่วยและประชาชน กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.)/คณะอนุกรรม การ(พชต.) เจ้าหน้าที่สาธารณสุขผู้รับผิดชอบงานการดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงระยะยาว และผู้ดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงระยะยาว จำนวน 223 คน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม แบบประเมินระดับการพัฒนาตามแนวทาง UCCARE ของเขตสุขภาพที่ 8 ส่วนการประเมินความพึงพอใจในการดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงระยะยาวเก็บข้อมูลจากผู้ดูแลที่รับผิดชอบผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงระยะยาว ญาติ หรือผู้ดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงจำนวน 305 คน และมีการศึกษาปัจจัยตามหลัก CIPP Model ที่มีผลต่อระดับการพัฒนาตามแนวทาง UCCARE ใช้สถิติวิเคราะห์สมการถดถอยพหุคูณ (Multiple Regression) และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา สถิติเชิงพรรณนา ผลการศึกษาพบว่า


1) คะแนนระดับความเหมาะสมรวมรายด้านตามหลัก CIPP Model ได้แก่ ด้านบริบท, ด้านปัจจัยนำเข้า   ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต มีความเหมาะสมระดับสูง ร้อยละ 69.95 ,58.74 ,93.72 และ 67.71  ตามลำดับ  ส่วนผลรวมคะแนนทุกด้านมีระดับความเหมาะสมระดับสูง ร้อยละ 87.89   
            2) ผลการประเมินระดับการพัฒนาตามแนวทาง UCCARE โดยรวมทุกด้านมีคะแนนการพัฒนาในระดับสูง ร้อยละ 93.27 ระดับปานกลาง ร้อยละ 6.72 ส่วนระดับการพัฒนารวม 6 ด้าน อยู่ในระดับ 3 (จากระดับ1-5)
          3) ระดับความพึงพอใจในการดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงระยะยาวโดยรวมทุกด้านมีระดับความพึงพอใจ ระดับมากที่สุด คะแนนเฉลี่ย 4.31 (SD. = 0.69) จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน   


4) ปัจจัยตามหลัก CIPP Model มีผลต่อระดับการพัฒนาตามแนวทาง UCCARE โดยปัจจัย CIPP   ทั้ง 4 ตัวสามารถพยากรณ์ ระดับการพัฒนาตามแนวทาง UCCARE ได้ร้อยละ 50.60 (R2=0.506, p-value<0.001) มีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์พหุคูณเท่ากับ 0.71 ค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐานในการพยากรณ์ เท่ากับ 55.87


          ข้อเสนอแนะจากการวิจัยคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควร มีการทบทวนการจัดทำคำสั่งแต่งตั้งผู้เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน, ควรมีการทำบันทึกข้อตกลงและการมอบหมายงานตามบทบาทหน้าที่, ควรส่งเสริมให้มีผลงานเด่นเกิดนวัตกรรมจากการทำงาน ควรมีการจัดตั้งกองทุนดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงระยะยาว จัดหาครุภัณฑ์การแพทย์ที่มีความจำเป็นในการจัดบริการ รวมทั้งจัดอบรมผู้ดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงเพิ่มเติม และส่งเสริมให้มีจิตอาสาช่วยเหลือกันในชุมชน

Article Details

บท
บทความวิจัย
Author Biography

สุขสันต์ สินทา

นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม