แนวทางที่เหมาะสมในการจัดการขยะโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนร่วมกับกระบวนวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ ตำบลนาฝาย อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ
Main Article Content
บทคัดย่อ
งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันในการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนตำบลนาฝาย อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ 2) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ในการจัดการขยะมูลฝอย ตำบลนาฝาย อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ และ 3)เพื่อศึกษาแนวทางที่เหมาะสมในการจัดการขยะโดยกระบวนการมีส่วนร่วมชุมชน ร่วมกับกระบวนวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ ตำบลนาฝาย อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ การวิจัยนี้ประกอบด้วยการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณ(Quantitative method) โดยใช้แบบสอบถาม กลุ่มตัวอย่างคือ ประชาชน 300 คน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยจำนวน ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย สำหรับการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยใช้การสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) ซึ่งกลุ่มตัวอย่างคือ ตัวแทนประชาชน จำนวน 12 คน โดยมีเกณฑ์การคัดเข้า (Inclusion criteria) ประกอบด้วยเป็นบุคคลที่อาศัยในชุมชนหมู่บ้านนาฝาย และมีส่วนได้ส่วนเสีย (Steak holder) ในการจัดการของขยะ และมีความสมัครใจในการร่วมโครงการ ทำการตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้าด้านข้อมูล (Data triangulation) และทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัย พบว่า ตำบลนาฝายมีปริมาณขยะเกิดขึ้น 10.72 ตันต่อวัน อัตราการเกิดขยะเฉลี่ยคิดเป็น 0.91 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน องค์ประกอบขยะมูลฝอยในพื้นที่ตำบลนาฝาย ส่วนใหญ่เป็นขยะอินทรีย์ ร้อยละ 38.71 รองลงมาเป็นขยะรีไซเคิลร้อยละ 27.70 ขยะทั่วไปร้อยละ 23.57 และขยะอันตรายร้อยละ 10.03 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 52.00 เพศชาย ร้อยละ 48.00 ส่วนใหญ่อายุเฉลี่ย 47.25 ปี การศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ร้อยละ 66.67 รองลงมาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 32.33 ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมไม่เคยทำการคัดแยกขยะมูลฝอยก่อนทิ้ง ร้อยละ 76.70 ส่วนวิธีการรวบรวมมูลฝอยส่วนใหญ่จะใส่ถุงพลาสติกก่อน แล้วจึงนำไปใส่ภาชนะใส่มูลฝอย ร้อยละ 72.50 วิธีการกำจัดมูลฝอย โดยการรอให้อบต.มาเก็บ ร้อยละ 69.00 ระบบระบบฝังกลบ (Sanitary Landfill) มีความเหมาะสมและมีความเป็นไปได้ในการดำเนินการต่อไป ซึ่งเป็นทางเลือกที่ค่าลงทุนต่ำสุด โดยมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value: NPV) เท่ากับ 0.79 ล้านบาท และอัตราผลตอบแทนของโครงการ (EIRR) เท่ากับ 6.17% อัตราส่วนระหว่างผลประโยชน์กับค่าลงทุน (B/C ratio) 1.01 โดยดำเนินการร่วมกับกระบวนการคัดแยกและหมักทำปุ๋ย ควบคู่กับกิจกรรมลดขยะที่ต้นทาง กิจกรรมอบรมให้ความรู้ กิจกรรมใช้ประโยชน์จากขยะและการจัดตั้งธนาคารขยะสำหรับชุมชนและโรงเรียน
Article Details
การอนุญาตให้ใช้ข้อความ เนื้อหา รูปภาพ ฯลฯ ของสิ่งพิมพ์ ผู้ใช้รายใดก็ตามที่จะอ่าน ดาวน์โหลด คัดลอก แจกจ่าย พิมพ์ ค้นหา หรือเชื่อมโยงไปยังข้อความทั้งหมดของบทความ รวบรวมข้อมูลสำหรับการจัดทำดัชนี ส่งต่อเป็นข้อมูลไปยังซอฟต์แวร์ หรือใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางกฎหมายอื่นใด แต่ห้ามนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์หรือมีเจตนาเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจใดๆ เผยแพร่ภายใต้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์แบบแสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า (Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License)
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License