จริยธรรมการตีพิมพ์
จริยธรรมในการตีพิมพ์บทความวิจัยในวารสาร (Publication Ethics)
วารสารฯ ได้กำหนดบทบาทและหน้าที่สำหรับบุคคล 3 กลุ่ม ที่อยู่ในวงจรการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงาน ได้แก่ ผู้นิพนธ์ (Author) บรรณาธิการวารสาร (Editor) ผู้ประเมินบทความ (Reviewer) เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 กลุ่ม ได้ศึกษาและปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ตลอดจนผู้อ่าน และแวดวงวิชาการ
บทบาทและหน้าที่ของผู้นิพนธ์ (Duties of Authors)
1. ผู้นิพนธ์ต้องรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่บิดเบือนข้อมูล หรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ
2. ผู้นิพนธ์ต้องรับรองว่าผลงานที่ส่งมานั้นเป็นผลงานใหม่และไม่เคยตีพิมพ์ในวารสารใดมาก่อน และไม่ได้กำลังเสนอขอตีพิมพ์ที่อื่นใด
3. ผู้นิพนธ์ต้องมีการอ้างอิงผลงานที่นำมาใช้ในงานของตนเอง และนำการอ้างอิงนั้นไปใส่ไว้ในรายการอ้างอิงท้ายบทความ
4. ผู้นิพนธ์ต้องใส่ชื่อผู้ร่วมวิจัยทั้งหมด ในกรณีที่งานวิจัยมีผู้ร่วมทำงานหลายคน ไม่แอบอ้างเป็นงานวิจัยของตนเองแต่เพียงผู้เดียว
5. ผู้นิพนธ์ต้องรับรองว่าผลงานที่ส่งมานั้นไม่มีข้อความ ภาพประกอบ และตารางใดๆ ที่เมื่อตีพิมพ์แล้วจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ส่วนบุคคลของผู้หนึ่งผู้ใด
6. ผู้นิพนธ์ต้องระบุแหล่งทุนที่สนับสนุนในการทำวิจัยนี้ (ถ้ามี)
7. ผู้นิพนธ์ต้องระบุผลประโยชน์ทับซ้อน (ถ้ามี)
บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการ
1. บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองคุณภาพบทความที่เสนอตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร
2. บรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลผู้นิพนธ์ และผู้ประเมินบทความแก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง
3. บรรณาธิการจะคัดเลือกบทความมาตีพิมพ์หลังจากผ่านกระบวนการประเมินบทความแล้ว โดยพิจารณาจากความสำคัญ ความใหม่ ความชัดเจน และความสอดคล้องของเนื้อหากับนโยบายของวารสารเป็นสำคัญ
4. บรรณาธิการต้องไม่ลงตีพิมพ์ หรือตอบรับบทความโดยที่ไม่มีข้อมูลยืนยัน
5. บรรณาธิการต้องไม่มีผลประโยชน์ร่วมกับผู้นิพนธ์ และผู้ประเมิน
6. บรรณาธิการต้องมีการตรวจสอบบทความในด้านการคัดลอกผลงานผู้อื่น (Plagiarism) บรรณาธิการต้องหยุดการประเมินทันที พร้อมส่งหนังสือผู้นิพนธ์ทันที เพื่อขอคำชี้แจงประกอบการ ตอบรับ หรือ ปฏิเสธ การตีพิมพ์บทความนั้น
บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ
1. ผู้ประเมินจะต้องรักษาความลับอย่างเคร่งครัด จะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลขณะประเมินบทความให้แก่บุคคลอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องทราบ
2. ผู้ประเมินไม่ควรมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์ ซึ่งส่งผลให้การประเมินขาดความ โปร่งใส ไม่เป็นอิสระ หากมีควรแจ้งให้บรรณาธิการทราบแต่เบื้องต้นที่ได้รับบทความ
3. ผู้ประเมินบทความควรมีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ที่ตนประเมิน โดยควรให้ความสำคัญในด้านคุณภาพของบทความ และต้องตัดสินโดยอาศัยข้อมูลทางวิชาการมารองรับ ไม่ตัดสินด้วยเหตุผลส่วนตัว
4. ผู้ประเมินควรตรวจสอบความซ้ำซ้อนของบทความ หากพบว่ามีการคัดลอก เจตนาให้ข้อมูลเท็จ หรือปิดบังอำพรางควรแจ้งให้บรรณาธิการทราบ