ข้อมูลส่วนต้น
วัตถุประสงค์ (Objectives) / ขอบเขตเนื้อหา (Scope) / กำหนดเผยแพร่ (Publication) / เจ้าของ (Publisher) / คณะกรรมการกองบรรณาธิการ (The Editorial Team) / บทบรรณาธิการ (Editorial Note) / สารบัญ (Table of Content)
DOI:
https://doi.org/10.60101/jimc2023.709บทคัดย่อ
บทบรรณาธิการ
วารสารนวัตกรรมสื่อและการสื่อสาร ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม – มิถุนายน 2566 ฉบับนี้ มีบทความวิชาการจำนวน 3 เรื่อง และบทความวิจัยจำนวน 2 เรื่อง บทความทั้ง 5 เรื่องที่ปรากฏสู่สายตาของผู้อ่านผ่านการพิจารณาคุณภาพจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญจากหลากหลายสถาบัน จำนวน 3 ท่าน/บทความ
บทความวิชาการเรื่อง “ภาพยนตร์สารคดีมีความหลากหลายกว่าที่คิด”ของกำจร หลุยยะพงศ์ จะพาผู้อ่านไปสำรวจแนวคิดและข้อถกเถียงเชิงวิชาการในแง่มุมต่าง ๆ ที่มีต่อภาพยนตร์สารคดี ทั้งมุมมองของสังคมตะวันตกและสังคมไทย ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของนิเวศสื่อในมิติต่าง ๆ ซึ่งนำไปสู่ข้อเสนอแนะต่อผู้ที่สนใจศึกษาด้านภาพยนตร์สารคดี
บทความวิชาการของศุภจิรา ศรีมีธรรมและรัตนวดี เศรษฐจิตร เรื่อง “กลยุทธ์การสื่อสารการตลาดด้วยความเชื่อมูเตลูในยุคดิจิทัล” นำเสนอภาพของวิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงที่เชื่อมโยงแนวคิดเรื่องการสื่อสารการตลาดเข้ากับความเชื่อและการต่อยอดทางธุรกิจ ในมิติที่ผู้เขียนนิยามว่าการสื่อสารการตลาดแบบมูเตลูหรือสายมู สะท้อนผ่านการออกแบบ สร้างสรรค์ และผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่แสวงหาเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ การเมือง สังคม เทคโนโลยี และสุขภาพ ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินชีวิตแบบวิถีใหม่ในยุคดิจิทัล
บทความวิชาการของเกษศินี รัตนพันธ์และปิยะพงษ์ อิงไธสง เรื่อง “การสร้างคุณค่าร่วมด้วย BCG Economy Model ของรัฐบาลไทย” ผู้เขียนทบทวนแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value: CSV) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม กำลังให้ความสนใจ บทความนี้จึงเสนอแนวทางการประยุกต์ใช้แนวคิดการสร้างคุณค่าร่วมกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ทั้งเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ของรัฐบาล ซึ่งน่าจะทำให้หน่วยงานที่สนใจใช้เป็นแนวทางในการวางแผนดำเนินงานเพื่อสร้างความยั่งยืนทั้งในระดับจุลภาคและมหภาคได้
บทความวิจัยเรื่อง “ศักยภาพในการส่งเสริมสุขภาพตนเองของผู้สูงอายุที่เป็นโรคเรื้อรังในพื้นที่อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย” ของประสิทธิ์ เนียมกำเนิด วิเคราะห์ให้เห็นถึงความสามารถของผู้สูงอายุในด้านการรับประทานอาหารส่งเสริมสุขภาพการเคลื่อนไหวออกแรง การจัดการความเครียด และการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมซึ่งผลการวิจัยจะเป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดทำกลยุทธ์การสื่อสารสุขภาพระดับชุมชนและอาจก่อให้เกิดแนวทางการประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป
บทความสุดท้ายเป็นบทความวิจัยเรื่อง “อิทธิพลของฟิลเตอร์ประกอบการจัดแสงที่มีผลต่อโทนผิวเพื่อใช้ในการผลิตภาพถ่ายโฆษณาสกินแคร์ ” ของ
ชนิดา ศักดิ์สิริโกศล ซึ่งทดลองถ่ายภาพโฆษณาเครื่องสำอางประเภทบำรุงผิวด้วยฟิลเตอร์ (Filter) สีต่าง ๆ นำไปสู่การเสนอเทคนิคการถ่ายภาพโฆษณาให้เหมาะสมกับโทนผิวของตัวแบบ นับเป็นประโยชน์เชิงการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมการถ่ายภาพโฆษณาประเภทสกินแคร์
กองบรรณาธิการวารสารนวัตกรรมสื่อและการสื่อสาร ยังคงมุ่งมั่นนำเสนอบทความที่ผู้อ่านทั้งนักวิชาการและนักวิชาชีพจะได้ใช้ประโยชน์ ทั้งในเชิงความรู้และการประยุกต์ใช้ในภาคปฏิบัติ เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ในการเผยแพร่และขยายพรมแดนความรู้ด้านนิเทศศาสตร์และเทคโนโลยีสื่อสารมวลชนในบริบทสังคมไทย